เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า เวลาที่ทานข้าวเหนียวอิ่มได้ไม่นานทำไมถึงรู้สึกง่วงกว่าทานอาหารชนิดอื่นๆ ซึ่งอาการง่วง ความอยากนอนที่ว่านี้เป็นความรู้สึกของร่างกายจริงๆ หรือเราแค่คิดไปเองกันแน่วันนี้ พิชชามีท จะหาคำตอบให้ได้ถามได้ค่ะ
ก่อนอื่นเรามารู้จักเรื่องทั่วไปของข้าวกันก่อนค่ะ
“ข้าว” หากแบ่งตามลักษณะของเมล็ดจะแบ่งเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียวค่ะ ซึ่งข้าวทั้ง 2 ชนิดมีจะลักษณะเหมือนกันแทบทุกอย่าง แต่ต่างกันที่เนื้อเมล็ด ข้าว โดยข้าวเป็นอาหารจำพวกแป้ง ที่ให้คาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง คุณค่าทางโภชนาการของข้าวในปริมาณ 100 กรัม จะให้คาร์โบไฮเดรตถึง 80 กรัม น้ำประมาณ 12 กรัม โปรตีนอีกประมาณ 7 กรัม และส่วนที่เหลือจะเป็นไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ แต่คาร์โบไฮเดรตหลักในข้าว คือ อะไมโลส (Amylose) และ อะไมโลเพกติน (Amylopactin) นั่นเอง
โดย อะไมโลส เป็นคารโบไฮเดรตที่มาจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่อกันเป็นเส้นตรง ย่อยง่าย พบในข้าวเจ้า มากกว่าข้าวเหนียว ส่วนข้าวเหนียว จะมีอะไมโลเพกตินอยู่ในปริมาณที่มากกว่าข้าวเจ้า ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มาจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่อกันแบบกิ่งก้านสาขา ซึ่งจะทำให้ย่อยได้ยากกว่าอะไมโลส
เมื่อเราทานข้าวเข้าไปจะเข้าสู่กระบวนการย่อยอาหาร ข้าวจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำตาลสูงขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อปรับให้ปริมาณน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม การหลั่งอินซูลินทำให้มีฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมาด้วย (เมลาโทนิน ได้จากการสังเคราะห์เซโรโทนินอีกที) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 นี้เอง คือ “สาเหตุของอาการง่วงนอน”
“ข้าว” กับอาการ “ง่วงนอน”
ในขณะที่ร่างกายกำลังย่อยอะไมโลเพกตินในข้าวเหนียวอยู่นั้น ก็จะหลั่งเซโรโทนินและเมลาโทนินออกมามากขึ้นตามไปด้วย (เพราะอะไมโลเพกตินย่อยยาก) นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้มากกว่าการกินข้าวเจ้า อีกทั้งในข้าวเหนียวก็ยังมีสารทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้งเซโรโทนินและเมลาโทนินออกมาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เจ้าเซโรโทนิน มีส่วนสำคัญในการทำงานของทั้งร่างกายและจิตใจ ควบคุมเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น ความหิว ความง่วง จึงมีผลต่อการนอนหลับ ส่วนเมลาโทนิน จะมีผลต่อการกระตุ้นนาฬิกาของร่างกาย โดยเกี่ยวข้องกับความสว่างและความมืด ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 นี้ มีผลทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและทำให้เกิดอาการง่วงซึมนั่นเองค่ะ
เอาเป็นว่า ก็คือ ไม่ว่าจะกินข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว ต่างก็ทำให้เกิดอาการง่วงได้ทั้งนั้น แต่การที่กินข้าวเหนียวแล้วรู้สึกง่วงนอนกว่ากินข้าวเจ้า เพราะข้าวเหนียวย่อยยากกว่า และใช้เวลาย่อยนานกว่าข้าวเจ้า จึงทำให้ร่างกายหลั่งสารง่วงนอนทั้ง 2 ออกมามากและนานกว่าค่ะ